Tipsสอนเด็ก
การใฝ่เรียนรู้ (Putting effort persistently) หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ เพียรพยายามในการเรียน แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เด็กที่เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ จึงเป็นเด็กที่มีความตั้งใจ มีความเพียรพยายามในการเรียน สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ชอบแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ สามารถเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม มีการบันทึกความรู้ วิเคราะห์ข้อมูล สรุปเป็นองค์ความ รู้ นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น สามารถถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
การสอนลูกให้ใฝ่เรียนรู้มีความสำคัญอย่างไร?
การที่คนเราจะมีชีวิตที่ดีงาม เราจะต้องศึกษาฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไป เมื่อเราฝึกฝนพัฒนา มีการศึกษา ก็ทำให้การดำเนินชีวิตของเราดีขึ้น เพราะการดำเนินชีวิตเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้หรือได้ศึกษา ยิ่งเราเรียนรู้ ก็ยิ่งมีชีวิตที่ดี การดำเนินชีวิตที่ดี จึงเป็นการดำเนินชีวิตพร้อมไปกับการเรียนรู้ เพราะชีวิตที่ดี คือ ชีวิตแห่งการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งการที่เด็กจะเป็นผู้มีความตั้งใจใฝ่เรียนรู้ ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน คือ ปัจจัยภายในตัวเด็ก และ ปัจจัยภายนอกตัวเด็ก
- ปัจจัยภายในตัวเด็ก คือ ความใฝ่เรียนรู้ ใฝ่ทำ หรือ อยากรู้ อยากทำ อยากสร้างสรรค์ เมื่อเด็กมีความอยากทำ ก็เป็นเหตุให้ต้องหาทางที่จะทำ คือ ต้องรู้ว่าจะทำได้อย่างไร ก็ทำให้อยากรู้และต้องหาข้อมูลความรู้ แล้วเอาข้อมูลความรู้นั้นมาเข้ากระบวนการคิด ให้รู้เข้าใจที่จะจัดทำให้สำเร็จ ซึ่งความใฝ่รู้ ใฝ่ทำ เรียกว่า “ฉันทะ”
- ปัจจัยภายนอกตัวเด็ก คือ สภาพแวดล้อม ในสถานการณ์บางอย่าง เช่น ภัยอันตราย และสภาพการดำเนินชีวิตที่บีบ รัดต่างๆ มีการแข่งขันมาก จะบังคับให้คนต้องคิดหาทางออกหรือหาความรู้ เพื่อเอามาคิดแก้ปัญหา เมื่อสภาพชีวิตอยู่ในแบบนี้เป็นประจำ ก็จะเกิดเป็นนิสัยในการใฝ่เรียนรู้ แสวงปัญญา และคิดทำการต่างๆ
การฝึกให้เด็กเป็นคนคิดเป็น มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ จะต้องเอาปัจจัยภายนอกมาโยงเข้ากับปัจจัยภายใน ซึ่งปัจจัยภายนอกก็คือ พ่อแม่ ครูอาจารย์ตั้งคำถามและนำเสนอทางเลือกของความคิดในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้น ชักนำ และฝึกให้เกิด ปัจจัยภายใน คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ
- คิดให้เห็นทะลุตลอดลงไปถึงต้นตอรากเหง้า
- คิดมีขั้นตอนเป็นลำดับ
- คิดถูกวิธี
- และคิดให้เกิดผลขึ้นมา
โดยการเลี้ยงดูฝึกอบรมให้เด็กมีความสนใจใฝ่เรียนรู้ และมีนิสัยในการคิดตามกระบวนการพัฒนาปัญญาอย่างถูกต้อง เพราะถ้าเราไม่มีวัฒนธรรมในการคิด ไม่ได้ฝึกการคิดและการหาความรู้กันมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นมา เด็กก็จะไม่มีนิสัยในการคิด เจออะไรก็ไม่อยากคิด และไม่สนใจใฝ่หาความรู้
การใฝ่เรียนรู้มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
การปลูกฝังให้เด็กมีความตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ จะต้องปลูกฝังให้เด็กได้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและมีชีวิตที่ก้าวหน้า เรียกว่า อิทธิบาท 4 คือ
- ฉันทะ มีใจรัก คือ พอใจจะทำสิ่งนั้น และทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดี เด็กที่มีความพอใจในการศึกษาเล่าเรียน ก็จะตั้งใจเรียน เอาใจใส่ สนใจสิ่งที่ครูกำลังสอน ฟังอย่างตั้งใจ และสามารถจดจำเรื่องต่างๆที่ครูอธิบาย มีความสุขในการมาเรียน ไม่เบื่อหน่าย ไม่เกียจคร้าน แต่มีความอดทนขยันหมั่นเพียร และเรียนอย่างจริงจังต่อเนื่อง เด็กเหล่า นี้จึงเป็นเด็กดีและสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้
- วิริยะ พากเพียรทำ คือ ขยัน หมั่นประกอบสิ่งต่างๆ และกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย ไม่ทอดทิ้ง แต่มุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะสำเร็จ เด็กที่มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร ก็จะหาเวลาทบทวนวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาให้เข้าใจถ่องแท้ มีความรับผิดชอบทำการบ้านให้สำเร็จ เรียบร้อย สมบูรณ์
- จิตตะ เอาจิตฝักใฝ่ คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย แต่จะใช้ความคิดทบทวนทำงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จไปด้วยดี ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
- วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อที่เกินเลยบก พร่องขัดข้องในสิ่งที่ทำนั้น โดยรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เพื่อจัดการและดำเนินการนั้นให้ได้ผล ดียิ่งขึ้นไป
ดังนั้น เด็กที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนี้ ก็จะมีความสำเร็จในการเรียน และมีชีวิตที่ก้าวหน้าตามความประสงค์ เพราะเป็นชีวิตที่มีการศึกษา ใฝ่เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้ให้ลูกที่โรงเรียนอย่างไร?
กระบวนการเรียนรู้หรือการพัฒนาให้เด็กเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ครูจะออกแบบกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันโดยคำนึง ถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียน ทั้งด้านความรู้และการพัฒนาตน จนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดี เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้น สามารถพัฒนากาย วาจา ใจ ไปสู่ปัญญาได้ด้วยตนเองในที่สุด ดังนี้
- การพัฒนาภายใน หรือ การพัฒนาแก่นแท้ของชีวิต ด้วยการ “พัฒนาให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ทั้งพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ไปสู่ความดี โดยมีเป้าหมายว่า เรียนแล้วเด็กพัฒนาขึ้น เรียนแล้วครูพัฒนาขึ้น เรียนแล้วมีประโยชน์ต่อผู้อื่น เรียนแล้วเกื้อกูลต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเรียนแล้วเป็นฐานให้ก้าวต่อไปในความดี
- ด้านพฤติกรรม : ครูฝึกมารยาท การอยู่ร่วมกัน และการปฏิบัติต่อผู้อื่นให้กับเด็กเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น การพูดไพเราะ การกล่าวคำขอบคุณและขอโทษ การกราบพระ การกราบผู้ใหญ่ การดูแลสิ่งรอบตัวให้เรียบร้อย มีระเบียบสวยงาม และการฝึกพฤติกรรมการบริโภคปัจจัย 4 แต่พอดี โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร
- ด้านจิตใจ : ครูฝึกเด็กแบบง่ายๆ ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ฝึกความสงบ ฝึกควบคุมจิตใจและความมั่นคงของใจ โดยจัดเป็นวิถีปฏิบัติ เช่น การสวดมนต์ เจริญสติ การรักษาศีล การฝึกกำกับตัวเองให้รู้จักจังหวะและกาลเทศะ ผ่านกิจกรรมต่างๆทางศาสนา
- ด้านปัญญา : ครูจัดเวลาให้เด็กได้ศึกษาและเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ฝึกสังเกต จดบันทึก ตลอดถึงการฝึกวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น
- การพัฒนาภายนอก หรือ การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็ก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต “พัฒนาความรู้ความเข้าใจต่อองค์ประกอบในระบบชีวิตแบบองค์รวม” ทั้งในส่วนของเนื้อหาสาระวิชา การ ทักษะการงาน และการดูแลตนเอง รวมถึงความสามารถที่จะระบุคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเด็ก โดยมีเป้าหมายว่า เรียนวิชาการให้ชำนาญแม่นยำ ด้วยความเข้าใจ นำไปใช้เป็น เรียนแล้วก่อให้เกิดปัญญาในการสัม พันธ์กับโลก สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเด็กเรียนวิชาต่างๆเพื่อตอบคำถามว่า เขาสามารถติดต่อสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติ สังคมได้อย่างไร
- เนื้อหาการเรียน : ครูนำเรื่องการรู้จักตนเอง สังคมรอบตัว ธรรมชาติ และเทคโนโลยีมาเป็นเนื้อหาแบบเรียนและบูรณาการโดยไม่แยกส่วน
- การเล่น : ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประกอบด้วยการเล่นอย่างมีแบบแผน กติกา และการเล่นอิสระตามจินตนาการ
- กิจวัตรประจำวัน : ครูฝึกให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย จัดเก็บของใช้ส่วนตัวและส่วนรวม พับผ้า ซักผ้า รับประทานอาหาร จัดโต๊ะ เก็บล้าง ตักอาหารเอง รับประทานหมด ไม่เหลือทิ้ง ฯลฯ
- การทำการงาน : ครูส่งเสริมให้เด็กได้คิดรายการอาหารที่มีประโยชน์ ได้ทำอาหาร ทำงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์อื่นๆ ได้ปลูกต้นไม้ ได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ได้ดูแลพื้นที่ส่วนกลาง ได้ดูแลและเป็นผู้ให้บริการผู้ใหญ่
- พัฒนากระบวนการคิด ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มทักษะความสามารถทางวิชาการ ซึ่งประกอบด้วยวิชาต่างๆ เช่น คณิต ศาสตร์ การใช้ภาษาเพื่อพูด ฟัง อ่าน เขียนในชีวิตประจำวัน เชาวน์ปัญญา และวิทยาศาสตร์
- พัฒนาทักษะชีวิต ประกอบด้วยงานหัตถกรรม คหกรรม วรรณกรรม ศิลปกรรม กสิกรรม นาฏกรรม สถาปัตยกรรม คีตกรรมและดนตรี
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการใฝ่เรียนรู้ให้ลูกได้อย่างไร?
การศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน ด้วยการเริ่มจากการสอนลูกให้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียน จนเกิดเป็นนิสัย เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เรียนรู้ได้หมด ทำให้ลูกเกิดความต้องการอยากเรียนรู้ที่เรียกว่า “ฉันทะ”
พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกมีความสุขกับการเรียนรู้ ด้วยการเตรียมตัวตั้งแต่ยังเล็ก ดังนี้
- อ่านหนังสือกับลูกจนเกิดเป็นนิสัย พ่อแม่ควรจัดเวลาอ่านหนังสือกับลูก ชี้ชวน แนะนำ เล่านิทานจากในหนังสือให้ลูกฟัง และแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ก็ชอบอ่านหนังสือ
- ฝึกให้ลูกมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบงานในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง ฝึกให้ลูกทำงานบ้านที่เหมาะสมกับวัย โดยพ่อแม่ช่วยแบ่งงานให้เป็นส่วน ที่ลูกสามารถทำสำเร็จและปล่อยให้ลูกทำเองได้ เช่น การแต่งตัว การดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดร่างกาย ของใช้ ห้องนอน การจัดเก็บโต๊ะอาหาร การล้างจาน ฯลฯ
- จัดสรรตารางชีวิตกับลูก ฝึกลูกให้มีความสม่ำเสมอในการทำสิ่งต่างๆ ฝึกให้ลูกรู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ โดยพ่อแม่ลูกร่วมกันทำตารางชีวิตในแต่ละวันว่า จะใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมอย่างไร และช่วยกันทำเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เช่น การพักผ่อน การตื่นนอน การรับประทานอาหารแต่ละมื้อ การทำงานบ้าน การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การอ่านหนัง สือ การทำการบ้าน การดูทีวี การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ฯลฯ
- ตกลงกติกาในบ้านที่เหมาะสม ให้ทุกคนรับทราบและปฏิบัติร่วมกัน เป็นการฝึกให้ลูกรู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น เคารพกติกา และสามารถปฏิบัติตนที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เช่น ไม่พูดคำหยาบ พูดจาสุภาพ ใช้ของแล้วเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยทุกครั้ง ช่วยกันจัดโต๊ะอาหาร เก็บจาน เป็นต้น
- สอนลูกทำการบ้าน เริ่มจากการทำความเข้าใจกับลูกว่า การบ้านเป็นความรับผิดชอบของลูกที่จะต้องทำให้เสร็จเรียบ ร้อยทุกครั้ง แต่พ่อแม่สามารถช่วยลูกทำการบ้านได้ โดยช่วยจัดตารางเวลา ช่วยสร้างนิสัยการทำการบ้านให้เป็นกิจวัตร สอนลูกให้รีบทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายมา อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ช่วยจัดสถานที่ที่เอื้อต่อการทำการบ้าน ให้มีความสงบ มีแสงสว่างเพียงพอ มีเครื่องเขียนอุปกรณ์พร้อม นอกจากนี้พ่อแม่ควรให้คำแนะนำกับลูก เช่น วิธีการหาข้อมูล วิธีใช้พจนานุกรม เมื่อลูกทำการบ้านเสร็จ ฝึกให้ตรวจดูความถูกต้องเรียบร้อยก่อนนำส่งครู และพ่อแม่สามารถสื่อสารให้ครูได้ทราบถึงปัญหาในการทำการบ้านของลูก
- ทำการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องสนุก เพราะคนเราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ตลอดเวลา พ่อแม่ควรทำการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องสนุก น่าสนใจ มีความท้าทาย ฝึกให้ลูกรู้จักตั้งคำถามและฝึกหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ฝึกคิดแก้ปัญหา ฝึกให้ลูกรู้จักแสดงความคิดเห็น เปรียบเทียบความเหมือนความต่าง นำเรื่องต่างๆมาเล่าให้ลูกฟัง พร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิด สิ่งที่น่าเรียนรู้ไว้ด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกมาก ฝึกให้ลูกคิดถึงอนาคตของตัวเอง สิ่งที่ลูกคาดหวังจะสำเร็จได้ด้วยการเริ่มต้นในวันนี้ ลูกจึงควรมีส่วนในการวางแผนอนาคตของตัวเอง และสามารถตัดสินใจในบางเรื่องได้
เมื่อลูกรู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ จนเกิดความใฝ่รู้ ก็จะมีจิตสำนึกในการฝึกตน ต้องการเรียนรู้ ต้องการฝึกตน เจอสิ่งที่ยาก ก็จะรู้ว่าตัวเองจะได้ฝึกศึกษามาก ก็จะทำด้วยความเต็มใจ ทั้งสุขภาพจิตก็ดี มีความสุข และทำสำเร็จได้ผลดี
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ภารกิจสำคัญของการศึกษา คือ การฝึกอบรมแต่ละบุคคลให้พัฒนาปัญญา เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ให้เกิดความรู้ ความเข้า ใจในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้
คุณสมบัติของผู้สอน ผู้สอนจึงควรมีคุณสมบัติภายนอก อันได้แก่ บุคลิกภาพ และคุณสมบัติภายใน คือ คุณธรรมต่างๆ ดังนี้
- คุณสมบัติภายนอก : ผู้สอนควรมีบุคลิกภาพที่ดี สง่างาม พูดจาสุภาพ ไพเราะ มีกิริยาที่งดงาม น่าเลื่อมใส ชวนให้เข้าใกล้
- คุณสมบัติภายใน : ผู้สอนควรมีความรู้เข้าใจในเนื้อหาที่จะนำมาสอน รู้จักเด็กนักเรียน รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล รู้ขีดความสามารถของเด็กที่มีพัฒนาการในระดับต่างๆ มีความรู้เข้าใจในพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างดี รู้วิธีการปฏิบัติที่จะพาเด็กไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ รู้ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือส่งเสริมเพิ่มพูนผลสำเร็จของการเรียนรู้ และรู้จักใช้เทคนิคต่างๆเข้าแก้ไข ส่งเสริม นำการเรียนรู้และการฝึกอบรมให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี
หลักทั่วไปในการสอน
- เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องที่จะสอน ครูควรสอนจากสิ่งที่เข้าใจง่ายไปหาสิ่งที่เข้าใจได้ยาก สอนสิ่งที่แสดงได้ด้วยของจริง ให้เด็กได้ดู ได้เห็น ได้ประสบการณ์ตรง สอนตรงเนื้อหา ไม่วกวน สอนมีเหตุผล สอนสิ่งที่มีความหมาย สอนให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล
- เกี่ยวกับตัวผู้เรียน ครูควรรู้ เอาใจใส่ผู้เรียน และสอนให้เหมาะตามความแตกต่างของเด็ก ปรับวิธีสอนให้เหมาะกับเด็ก คำนึงถึงความพร้อมของเด็กแต่ละคน สอนโดยให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง ให้มีการแสดงความคิดเห็น ให้เด็กกับครูมีบทบาทร่วมกัน
- เกี่ยวกับการสอน การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมาก การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก สามารถเป็นเครื่องดึงความสนใจและนำเข้าสู่เนื้อหาได้ ครูควรสร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติเด็ก ให้เด็กมีความภูมิใจในตัวเอง สอนมุ่งเนื้อหาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สุดเป็นสำคัญ สอนโดยความเคารพ ตั้งใจสอน มองเห็นความสำคัญของเด็ก ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ชวนให้สบายใจ เข้าใจง่าย
การช่วยให้เด็กเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่เป็น และสามารถจัดการสิ่งต่างๆตามที่ควรจะเป็น ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคม ภารกิจของผู้สอนและให้การศึกษาจึงเป็นเพียงผู้ชี้นำทางหรืออำนวยโอกาส ช่วยให้ผู้ เรียนหรือผู้รับการศึกษาอบรม เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ดำเนินเข้าสู่ปัญญา สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้สอนจะทำได้ คือ ตั้งใจช่วยเหลือ พยายามสรรหาอุบาย กลวิธี และอุปกรณ์ต่างๆที่จะมาช่วยผู้เรียนให้เข้าถึงปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด ที่เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร